ติดดอย คือ อะไร? รู้จักคำว่า “ติดดอย”


    เชื่อว่านักลงทุนไทยหลายคน คุ้นหูกันเป็นอย่างดีสำหรับคำว่า “ติดดอย” และเป็นคำที่เราอาจจะไม่อยากใช้มากที่สุด บทความชิ้นนี้ จะพาไปดูกันคำว่า “ติดดอย” ที่นักลงทุนใช้เรียกกัน หมายถึงอะไรกันแน่ ใช้ความหมายเดียวอย่างที่เราเข้าใจหรือไม่ นอกจากนี้ จะพาทุกคนไปดูว่า อะไร คือ สาเหตุที่ทำให้นักลงทุน เจอกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “ติดดอย” รวมถึงวิธีป้องกันการติดดอย ที่เทรดเดอร์ควรรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจอกับสภาวะ “ติดดอย” นี้


    1.คำว่า “ติดดอย” คืออะไร?


    คำว่า “ติดดอย” เป็นคำแสลง ที่นักลงทุนไว้ใช้เรียกถึงสถานการณ์ที่เราไปซื้อหุ้น หรือหลักทรัพย์ใดๆ ก็ตามมาในราคาหนึ่ง โดยหลังจากนั้น ราคาหุ้น หรือหลักทรัพย์นั้นๆ ก็ดิ่งลงมาเรื่อยๆ และไม่กลับไปที่ราคาเดิมอีกเลย ซึ่งสูงกว่ามาก ทำให้หากคุณต้องการขายหุ้น หรือหลักทรัพย์ตัวนั้นๆ คุณจะไม่มีวันได้ราคาเดิมกับที่คุณซื้อมา แถมยังต้องขาดทุนอีก

    ยิ่งราคาหุ้นที่ซื้อไว้ สูงมากขนาดไหนเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน คุณก็จะยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น ราคาซื้อที่คุณจ่ายไปกับหุ้นตัวนั้นที่สูงมาก จึงเปรียบเสมือนกับยอดเขา หรือยอดดอย ที่หุ้นของคุณขึ้นไปค้างอยู่นั่นเอง จะขายก็ทำใจขายไม่ได้ เพราะต้องขาดทุนมากแน่ๆ เลยต้องทิ้งหุ้นของคุณไว้เช่นนั้น เหมือนการติดอยู่บนดอย หรือยอดเขาสูงนั่นเอง




    ยกตัวอย่าง เช่น หากคุณซื้อหุ้นตัวหนึ่งมาที่ราคา 50 บาท และจากนั้น ราคาก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือประมาณ 10 บาท โดยราคามีการขยับอยู่ระหว่าง 10-20 บาท เป็นเวลานาน และไม่มีแนวโน้มที่ราคาของหุ้นตัวนี้ จะปรับสูงขึ้นไปที่ 50 บาท อีกเลย นักลงทุนเรียกสถานการณ์เช่นนี้ ว่า “ติดดอย”


    สถานการณ์นี้ มักเกิดกับนักลงทุนที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่ได้ทำการบ้าน หรือศึกษาหุ้น หรือหลักทรัพย์ตัวนั้นๆ มากพอ ไม่รู้ว่ามูลค่าที่ควรเป็นของหุ้นตัวนั้นๆ ควรอยู่เท่าไหร่ ไม่เข้าใจว่าราคา ณ ตอนนั้น คือ ถูกหรือแพง อาจจะเกิดจากการซื้อตามๆ กัน ในหัวข้อถัดไป จะพาไปดูกันว่า สาเหตุใดบ้างที่จะส่งทำให้นักลงทุน เสี่ยงต่อการ “ติดดอย” และจะมีวิธีการใดป้องที่นักลงทุนสามารถใช้เพื่อป้องกันการติดดอย ในการลงทุน


    2.สาเหตุของการติดดอย


    2.1 นักลงทุนไม่ศึกษาหุ้นก่อนซื้อ

    ปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ มีหุ้น และดัชนีนับร้อยๆ ให้นักลงทุนได้เลือกซื้อ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุน ที่จะเข้าไปศึกษา หรือทำความเข้าใจหุ้นได้หมดทุกตัว ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ อาจจะเลือกซื้อหุ้นตามคำแนะนำที่ได้จากเพื่อน หรืออินเตอร์เน็ต หรือได้ยินตามๆ กันมาว่าหุ้นตัวนี้มีคนซื้อเยอะ โดยที่เทรดเดอร์อาจจะไม่ได้นั่งลงทำการบ้านศึกษาหุ้นให้ดีก่อน ว่าเป็นหุ้นธุรกิจอะไร มีผลประกอบการอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นตัวนั้นๆ ควรจะมีมูลค่าเท่าไหร่ สาเหตุการติดดอย ส่วนหนึ่งจึงเกิดการที่นักลงทุนไม่ยอมเสียเวลาศึกษา ทำการบ้านเกี่ยวกับหุ้นตัวที่จะซื้อให้ดีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนทุกคนควรทำอย่างยิ่ง


    2.2 ซื้อหุ้นที่ราคาพุ่ง


    นักลงทุนหลายคนที่เข้ามาในตลาดใหม่ๆ อาจจะพากันตื่นตูมกับหุ้นที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากๆ หรือหุ้นที่มีปริมาณซื้อ-ขายสูง ซึ่งข้อเสียของหุ้นเหล่านี้คือ มันเป็นหุุ้นที่ราคาเพิ่มสูงมาหลายเปอร์เซ็นต์แล้วในเวลาไม่นาน ทำให้หลายคนที่ไม่มีประสบการณ์ หรืออาจจะตื่นเต้นจนเกินไป เชื่อว่าหุ้นจะเติบโต หรืือมีราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ราคาหุ้นกำลังจะถึงจุดอิ่มตัว และกำลังจะเข้าสู่การปรับฐานราคาลงมาให้ตามสภาพความเป็นจริง ภาวะตื่นตูม หรือตื่นเต้นกับหุ้นที่ดันสูงขึ้นอาจทำให้เทรดเดอร์หลายคนเจ็บตัวไม่น้อย เพราะดันไปซื้อเอาตอนที่ราคาขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว


    2.3 ซื้อหุ้นหลังจากที่หุ้นทะลุแนวต้าน


    นักลงทุนที่อาจจะวิเคราะห์กราฟยังไม่เก่ง หรือตีกราฟไม่ถูกต้อง อาจจะโชคร้ายไปซื้อหุ้นที่ราคาทะลุแนวต้านไปแล้ว ซึ่งการซื้อหุ้นตอนที่มันทะลุแนวต้านไปแล้ว หมายถึงการซื้อหุ้นตอนที่หุ้นราคาขึ้นไปสูงมากแล้ว ทำให้โอกาสที่มันจะขึ้นสูงอีกเป็นไปได้ยาก ทำให้หุ้นตัวนั้นๆ ของนักลงทุน หรือเทรดเดอร์ ต้องติดดอยไปนั่นเอง


    2.4 ซื้อหุ้นที่ผลประกอบการต่ำ

    นักลงทุนหลายคนซื้อหุ้นในขณะที่ยังไม่ทราบผลประกอบการ หรืองบการเงินของหุ้นนั้นๆ โดยเทรดเดอร์ชื่อว่าหุ้นตัวนั้นจะมีผลประกอบการที่ดี จึงพากันซื้อทำให้ราคาหุ้น หรือหลักทรัพย์สูงขึ้น แต่เมื่อทราบว่างบการเงิน หรือผลประกอบการออกมาต่ำ ก็ทำให้ราคาของหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้นๆ ลดลง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หุ้นของเทรดเดอร์หลายคนติดดอย


    2.5 ซื้อหุ้นที่เคยดีในอดีต


    นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะมองหาหุ้น หรือหลักทรัพย์ที่เป็นที่นิยม หรือได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนอยู่แล้ว ทำให้หลายๆ คนมองข้ามความเป็นจริงของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หุ้นของบางบริษัท ในกรณีที่โครงสร้าง หรือพื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เช่น อาจจะมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้นๆ มากขึ้น ทำให้การเติบโตของบริษัทค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กำไร และราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ ลดลงด้วย หุ้นที่เคยดีในอดีต จึงอาจร่วงลงมาจากฟ้าได้โดยไม่รู้ตัว และทำให้นักลงทุนที่ไปซื้อหุ้นเหล่านี้ พาหุ้นไปติดดอยด้วยอีกสาเหตุหนึ่ง



    3.วิธีป้องกันการติดดอย


    3.1 ศึกษาหุ้นแต่ละตัวก่อนลงทุนอย่างละเอียด



    การทำการบ้าน และหาความรู้ อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่หากคุณอยากเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เทรดเดอร์ขาจร ที่แวะเวียนมาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วละก็ การทำการบ้าน และศึกษาหาความรู้ คือ ปัจจัยที่สำคัญในการลงทุนให้ได้กำไร นักลงทุน ควรศึกษาผลประกอบการของบริษัทนั้น ว่ามีผลประกอบการต่อเนื่องย้อนหลังดีหรือไม่ อย่างไร สถานการณ์ของบริษัทในปัจจุบันเป็นอย่างไร บริษัทมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น


    3.2 การกระจายความเสี่ยง ด้วยการซื้อหุ้นหลายตัว

    เทรดเดอร์ที่ดีย่อมไม่ทุ่มเงินของตัวเองไปกับหุ้น หรือหลักทรัพย์เพียงตัวเดียว เพราะคุณกำลังฝากชีวิตของคุณไว้กับสิ่งๆ เดียว ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างอันตราย สิ่งที่นักลงทุนควรทำ คือ มองหาหุ้นหลายๆ ตัวที่ดี อยู่ในราคาที่เหมาะสม แล้วลงทุนกับหุ้นเหล่านั้น ในปริมาณที่คุณรับได้ เทรดเดอร์ควรมีหุ้นในพอร์ต อย่างน้อย 5 บริษัท เพราะหากราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่งลดลง คุณก็อาจจะยังได้กำไรจากหุ้นตัวอื่นๆ

    3.3 ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ อยู่เสมอ

    แม้ว่าจะซื้อหุ้นบริษัทนั้นๆ ที่เราเชื่อมั่นว่าดี และจะไม่ทำให้เราขาดทุน หรืออาจจะมีการศึกษาข้อมูล หรือประวัติทางการเงินของบริษัทนั้นๆ มาก่อนหน้าที่จะซื้อแล้ว สิ่งที่นักลงทุนหลายๆ คน พลาดไป คือ การไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ทำให้บางครั้ง เราพลาดข่าวสารสำคัญต่างๆ ไป เช่น จากบริษัทที่เคยเติบโตดี อาจจะหยุดชะงัก หรือแย่ลงได้ การคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องทำ เพื่อป้องกันภาวะติดดอย

    3.4 ปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์


    หากนักลงทุน เจอสถานการณ์ที่หุ้นร่วงต่ำลงมาจนดูน่าปกติ เราต้องมาดูว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือถาวร เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความผันผวนในตลาด หรือเป็นผลกระทบจากกระแสข่าว เพราะหากราคาลงต่ำผิดปกติ แต่ผลประกอบการของบริษัทยังดีอยู่่ นักลงทุนอาจไม่ต้องทำอะไร นอกจากรอให้ราคาหุ้นกลับมา แต่ถ้าตัวโครงสร้างบริษัท หรือพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยน มีการขาดทุนต่อเนื่อง ก็ให้นักลงทุนขายเพื่อนำเงินไปลงทุนกับหุ้นตัวอื่น



    3.5 การตั้งค่าฟังก์ชั่น Stop Loss


    การใช้ฟังก์ชั่น Stop Loss เป็นคำสั่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเทรดเดอร์ในการลดความสูญเสียจากการเทรด ในกรณีที่หุ้นของเราเริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อาจจะทำให้เราขาดทุน การตั้งคำสั่ง Stop Loss ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราขาดทุนมหาศาลได้ โดยหลักการการทำงานของมันก็คือ หากราคาหุ้นตกลงไปถึงระดับ Stop Loss ที่เราตั้งค่าไว้ สถานะ หรือ Position ของเราจะถูกปิดโดยอัตโนมัติ โดยคำสั่ง Stop Loss นี้สามารถใช้กับสถานะที่เปิดอยู่ในปัจจุบัน หรือสถานะที่เป็น Pending Order ก็ได้ การใช้ฟังก์ชั่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทำ เมื่อเทรด


    Comments

    • December 7, 8.00
      D. jhon shikon milon

      Is this article helpful to you?

      LikeReply