เทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ฉบับมือใหม่ ตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น
การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นต้องใช้การวิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ ส่วน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในก่อนการตัดสินใจลงทุนนั่นก็คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) แม้ว่าการวิเคราะห์นี้จะต้องใช้ความรู้หลายด้านในแต่ถ้าหากเราเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานแล้วก็จะช่วยให้ผู้เล่นหุ้นสามารถพัฒนาต่อยอดความรู้ในการวิเคราะห์เพื่อนำไปประกอบกับการวิเคราะห์แบบเทคนิคอื่น ๆ ได้ และยังทำให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมในตลาดลงทุนได้มากยิ่งขึ้น คนที่เป็นมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นเรื่องที่คุณสามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง บทความนี้จะเป็นตัวช่วยปูพื้นฐานให้กับคุณเพื่อช่วยฝึกให้คุณวิเคราะห์ได้แม่นยำขึ้นต่อไป
ทำความรู้จักกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) คือ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน 3 ส่วน อันได้แก่
-
สภาพเศรษฐกิจ
-
สภาพอุตสาหกรรม
-
ตัวบริษัทเอง
ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดของอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยงจากการลงทุน และมูลค่าของหลักทรัพย์ หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ การวิเคราะห์โดยพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลกและประเทศ ต่อด้วยสภาพอุตสาหกรรมว่ามีการแข่งขันอย่างไรบ้าง รวมไปถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต จนมาถึงการวิเคราะห์ตัวบริษัทที่เราสนใจไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์งบการเงิน ขีดความสามารถในการผลิตและการบริการ การวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของผู้บริหารบริษัท สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจภาพกว้างในตลาดลงทุนได้ดี
การวิเคราะห์นี้เหมาะกับการลงทุนเก็งกำไรในระยะกลางถึงระยะยาว หรืออย่างน้อย 1 ไตรมาส เพราะการวิเคราะห์มิใช่การวิเคราะห์ในช่วงจังหวะเวลาอันสั้น แต่จะช่วยให้เข้าใจแนวโน้มการเติบโตของหุ้นที่น่าลงทุนในอนาคต คุณสามารถศึกษาวีดิโอแนะนำการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นได้
แนะนำตัวบ่งชี้สำคัญที่คุณต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มวิเคราะห์
สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ในตลาดลงทุนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน วันนี้เราจะมาช่วยให้คุณเริ่มต้นการวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุนให้ง่ายขึ้น แต่ก่อนที่จะไปศึกษาขั้นตอนและวิธี เราอยากให้คุณเริ่มทำความรู้กับตัวบ่งชี้ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทก่อนว่ามีตัวบ่งชี้ใดบ้างที่คุณควรศึกษา
วิเคราะห์เศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดที่ต้องศึกษาประกอบในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เป็นต้น
วิเคราะห์อุตสาหกรรม
เครื่องมือช่วยวิเคราะห์อุตสาหกรรม ได้แก่ อำนาจต่อรองจากลูกค้า (Power of Customers) อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์ (Power of Suppliers) การคุกคามของผู้ประกอบการรายใหม่ (Threat of New Entrants) การคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitutes) การแข่งขันของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม (Industry Rivalry)
วิเคราะห์บริษัท
การวิเคราะห์หุ้นหรือบริษัทมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงปริมาณ และ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ
-
การวิเคราะห์เชิงปริมาณโดยศึกษางบการเงินของบริษัท ได้แก่ งบสถานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด เป็นต้น
-
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพเพื่อตรวจสอบประวัติความเป็นมา ลักษณะการดำเนินงาน ทิศทางในอนาคต โดยสามารถใช้การวิเคราะห์แบบ SWOT ช่วยได้
มือใหม่เริ่มวิเคราะห์อย่างไร
หลังจากที่ทราบว่าในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัทมีตัวบ่งชี้ใดที่ต้องใช้บ้าง คุณก็สามารถเริ่มต้นวิเคราะห์ด้วยวิธีง่าย ๆ มี 2 แบบ ดังนี้
-
การวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top-Down Approach)
คือการมองโดยเริ่มจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศจากภาพรวมใหญ่ลงมาถึงภาพเล็กหรือตัวหุ้นเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก่อนที่จะพิจารณาตัวหุ้นหรือบริษัทที่สนใจจะลงทุน
ขั้นตอนการวิเคราะห์จากบนลงล่าง “เริ่มจากการมองภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศว่าสภาพการณ์ปัจจุบันจะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมประเภทใดบ้าง ต่อมาเมื่อได้กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจแล้ว เราก็ต้องมาวิเคราะห์สภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันว่าอุตสาหกรรมประเภทใดมีแนวโน้มที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดและเติบโตสูง หลังจากที่ได้กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่น่าสนใจแล้วคุณก็ควรมองหาบริษัทหรือตัวหุ้นที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่ทุกบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจะสามารถดำเนินกิจการได้ดีเหมือนกัน การศึกษาโปรไฟล์ของบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุน”
-
การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Approach)
คือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบกลับกันกับวิธีวิเคราะห์จากบนลงล่างโดยเป็นการมองจากภาพเล็กไปสู่ภาพใหญ่ เป็นการมองจากตัวหุ้นหรือบริษัทที่ผู้ลงทุนมีความสนใจแล้วนำไปพิจารณาแนวโน้มต่อจากภาพรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ การเมือง การวิเคราะห์จากล่างขึ้นบนจะเหมาะกับเวลาที่เรามีหุ้นที่น่าสนใจบริษัทมีพื้นฐานที่ดี ก็จะช่วยให้เราโฟกัสไปที่หุ้นตัวนั้นแล้ววิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขั้นตอนการวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน “บริษัท A มีพื้นฐานที่ดี แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบัน อาจทำให้บริษัท A มีราคาหุ้นตกและไม่น่าดึงดูดในการลงทุนช่วงครึ่งปีนี้ แต่หากช่วงครึ่งหลังของปีไปแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นซึ่งจะส่งผมให้การดำเนินกิจการของบริษัทเติบโตไปด้วย ดังนั้น การซื้อหุ้นบริษัท A ไว้ก่อนในช่วงนี้ก็เป็นแนวทางที่ดีและสามารถหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคตได้”
โดยสรุปการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจากบนลงล่างจะเอาไว้ใช้เมื่อตอนที่เราไม่ได้มีตัวหุ้นใดที่สนใจเป็นพิเศษ หรือเมื่อคุณสนใจลงทุนในวงกว้าง ส่วนล่างขึ้นบนจะเหมาะกับเวลาที่คุณสนใจหุ้นตัวใดเป็นพิเศษแต่ยังไม่แน่ใจแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะป็นการวิเคราะห์จากบนลงล่างหรือล่างขึ้นบนก็ต่างมีประโยชน์แก่นักลงทุนเท่านั้น นักลงทุนสามารถเลือกใช้วิธีให้ตรงกับความต้องการของตนเองได้
คำแนะนำเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเมือง
การติดตามข่าวสารการเมืองและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและประเทศจะช่วยให้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานวิเคราะห์ได้เฉียบขาดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคอยติดตามอุตสาหกรรมอีกด้วยเพื่อให้ทราบว่าอุตสาหกรรมใดมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต อุตสาหกรรมใดจะเติบโตเพียงชั่วครั้งคราว นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่คุณเลือกควรเป็นสิ่งที่คุณสนใจอีกด้วย เพราะหากไม่ใช่สิ่งเราชอบก็จะทำให้ยากในการหาข้อมูลวิเคราะห์ต่อไป
โฟกัสที่การลงทุนระยะยาว
วิธีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการเล่น Forex นั้นต่างจากการเล่นหุ้น กล่าวคือ ในการเล่น Forex นักลงทุนจะโฟกัสไปที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศค่าเงินที่กำลังจะลงทุนในระยะเวลาสั้นกว่าการลงทุนในหุ้น ในขณะที่การเล่นหุ้นนักลงทุนจะมองไปที่ตัวบริษัทในเรื่องของผลประกอบการจากในอดีต ปัจจุบัน แล้ววิเคราะห์ถึงอนาคตจึงอาจต้องวิเคราะห์ช่วงเวลาที่นานกว่า
วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานให้ตรงกับการลงทุนที่เลือก
วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการเล่นหุ้นและ Forex ก็แตกต่างกันเล็กน้อย โดยการเล่นหุ้นนั้นจะเน้นไปที่การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและงบการเงินของบริษัท ในขณะที่การวิเคราะห์ของ Forex จะเน้นการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสกุลเงินในประเทศที่ลงทุน
ศึกษาการวิเคราะห์ทางเทคนิค
ผู้ลงทุนควรศึกษาวิธีวิเคราะห์ทางเทคนิคเอาไว้ด้วยเพราะการวิเคราะห์นี้เป็นเพียงการช่วยเพื่อหาบริษัทที่น่าลงทุนโดยวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและทั่วโลก ส่วนการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะช่วยในการวิเคราะห์หาจังหวะเวลาที่เหมาะแก่การลงทุน โดยการใช้สถิติข้อมูลของราคาและปริมาณการซื้อขายที่ผ่านมา
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานต้องอาศัยความรู้ การติดตามข่าวสาร และการวิเคราะห์ที่เฉียบแหลม ผู้ลงทุนจึงควรมองหาวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อใช้ควบคู่กันไปด้วย ผู้ที่สนใจลงทุนจึงควรฝึกฝนการวิเคราะห์หลากหลายรูปแบบพร้อมทั้งลองปฏิบัติจริงแล้วนำมาต่อยอดเป็นกลยุทธ์การเทรคก็จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น หากคุณสนใจอยากเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพิ่มเติมทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหลักสูตรออนไลน์สอนให้ฟรี คุณสามารถขอใบรับรองหลังเรียนจบคอร์สได้อีกด้วย
Comments
D. jhon shikon milon
Is this article helpful to you?
LikeReply