Purchasing Power Parity (PPP) คืออะไร?
1.Purchasing Power Parity (PPP) คืออะไร?
ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน โดยทฤษฎีนี้มองว่า สินค้าประเภทเดียวกันในประเทศหนึ่ง ควรมีราคาเท่ากันในอีกประเทศหนึ่งเมื่อนำอัตราแลกเปลี่ยนมาคิดรวมแล้ว โดยตามทฤษฎี สกุลเงินระหว่างสองประเทศจะเท่าเทียมกัน เมื่อตะกร้าสินค้าในตลาดมีมูลค่าเท่ากันระหว่างประเทศ ซึ่งการเปรียบเทียบราคาของสินค้าที่เหมือนกันในประเทศต่างกัน จะช่วยกำหนดอัตรา PPP
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ มีจุดอ่อนตรงที่ การเปรียบเทียบนั้นอาจมีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพของสินค้า ทัศนคติของผู้บริโภค เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) จึงยากที่จะประยุกต์ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
2.ทฤษฎี PPP นำมาประยุกต์ใช้อย่างไร?
สำหรับการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Purchasing Power Parity (PPP) ในโลกเศรษฐกิจจริงๆ นั้น นักเศรษฐศาสตร์ จะใช้ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ มาเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยอาจเป็นการเปรียบเทียบเพื่อหาว่าประเทศใดมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก หรือมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) นอกเหนือไปจากการใช้ตัวเลข GDP เพื่อมาช่วยอธิบายสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) มีประโยชน์มากในการนำมาใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับมหภาค เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับ GDP ทั้งนี้ เนื่องจากหลายประเทศมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง ค่า GDP จึงสามารถเอนเอียงได้ การนำทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) มาใช้คำนวณตัวเลข GDP ของแต่ละประเทศใหม่ โดยเสมือนว่ามันเป็นการตั้งราคาในสหรัฐอเมริกา
ยกตัวอย่างเช่น จากการจัดทำ Factbook ของสำนักข่าวกรองกลาง ของสหรัฐฯ (CIA) หรือ The World Factbook เมื่อปี 2019 แสดงได้เห็นว่าจากการคำนวณด้วย PPP ในการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศพบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศจีนอยู่ที่ 22.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าค่า GDP ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 20.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะฉะนั้น หมายความ หากใช้ทฤษฎี PPP มาคำนวณปริมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศจีน จะเป็นประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการนำทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) มาใช้ในการคำนวณการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตามค่าเงินหยวน ด้วยการแปลงค่าเงินหยวนเป็นอัตราเงินดอลลาร์สหรัฐตามอัตราแลกเปลี่ยนของตลาด จะทำให้ค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น โดยส่วนต่างของค่า GDP ที่คำนวณด้วยวิธิที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากความต่างในเรื่องค่าครองชีพ
นักลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน หรือนักลงทุนตลาดหุ้นหรือพันธบัตร ยังสามารถนำทฤษฎีนี้มาใช้วิเคราะห์ หรือคาดการณ์ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆ หรือบ่งบอกจุดอ่อนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ทฤษฎี PPP ยังอาจถูกนำมาใช้ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือทำนายอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต อย่างไรตาม กรณีนี้เป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
3.ทฤษฎี PPP กับราคา Big Mac และกาแฟ Starbucks
3.1 เมนูบิ๊กแมค (Big Mac) กับทฤษฎี PPP
ราคาบิ๊กแมค (Big Mac) ซึ่งเป็นแฮมเบอร์เกอร์เมนูหนึ่งของฟาสต์ฟู้ดเจ้าดัง อย่าง McDonald's ก็ถูกนำมาใช้อธิบายทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) เช่นกัน โดยมีการจัดทำสำรวจรายปี โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1986 โดยหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจรายสัปดาห์ชื่อว่า The Economist ซึ่งตรวจสอบค่าเงินต่างๆ ที่สูง หรือต่ำจนเกินไป จากราคาของบิ๊กแมค 1 ชิ้น จากหลากหลายประเทศทั่วโลก หากใช้ทฤษฎี PPP มาจับราคาบิ๊กแมค ซึ่งเชื่อว่าค่าของเงินตรา หรือสกุลเงินจะขึ้น หรือลง เพื่อที่จะรักษาอำนาจในการซื้อให้สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ การสำรวจราคาบิ๊กแมค จึงอยู่บนฐานความคิดที่ว่า ราคาบิ๊กแมคในแต่ละประเทศจะมีราคาเท่ากัน
การคำนวณบิ๊กแมคตามทฤษฎี PPP สามารถคำนวณได้โดยการตรวจสอบราคาของเมนูบิ๊กแมคในแต่ละประเทศตามอัตราของสกุลเงินนั้นๆ แล้วหารด้วยราคาของบิ๊กแมค ของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ มักจะใช้ราคาบิ๊กแมคของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวเทียบ
ยกตัวอย่าง หากราคาบิ๊กแมคในประเทศจีน มีราคาอยู่ที่ 10.41 หยวน ในขณะที่บิ๊กแมคของอเมริกา มีราคา 2.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ตามหลักการของทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ PPP อัตราแลกเปลี่ยน จึงควรจะอยู่ที่ 3.59 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากมูลค่าสกุลเงินหยวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีการซื้อ-ขาย อยู่ที่ 8.27 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทฤษฎี Big Mac PPP จึงกำลังบอกว่า เงินหยวนถูกประเมินราคาต่ำ
3.2 เมนูลาเต้ (Latte) กับทฤษฎี PPP
คล้ายๆ กันกับการทำดัชนีราคาบิ๊กแมคในหลายประเทศ หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอย่าง The Economist ยังได้สำรวจราคาของกาแฟลาเต้ในหลายประเทศเพื่อสำรวจว่าสกุลเงินของแต่ละประเทศอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นหรือไม่ เมื่อเทียบกับราคาของลาเต้ในสหรัฐอเมริกา โดยดัชนีราคาลาเต้ อาจเป็นเครื่องมือในการช่วยตัดสินใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละสกุลเงิน ควรอยู่ในระดับใด เมื่อวัดจากราคาลาเต้ 1 แก้ว
หากราคาลาเต้ของประเทศใด มีราคาสูงกว่าราคาที่จ่ายโดยลูกค้า Starbucks ในอเมริกาในสกุลดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่าสกุลเงินในประเทศนั้นๆ มีอัตราสูงเกินควร และหากราคาลาเต้ในประเทศนั้น น้อยกว่าราคาในอเมริกา นั่นแปลว่ามูลค่าของสกุลเงินนั้นต่ำเกินความเป็นจริง
ยกตัวอย่าง ราคาลาเต้ แก้วสูง (Tall) ในสหรัฐฯ มีราคา 3.50 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาลาเต้ แก้วไซส์เดียวกันในประเทศจีน มีราคา 4.00 ดอลลาร์สหรัฐ และราคา 1.50 ดอลลาร์สหรัฐในประเทศไทย นั่นหมายความว่า เงินหยวนของประเทศจีน มีค่าสูงเกินความเป็นจริง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เงินบาทของประเทศไทย มีค่าน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการนำทฤษฎี PPP มาใช้วิเคราะห์ราคา Big Mac และกาแฟ Latte มีจุดอ่อนตรงนี้ มันไม่ได้นำเอาปัจจัยอื่นๆ มาใช้ในการพิจารณาควบคู่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิต และจำหน่ายในแต่ละประเทศ, ราคาต้นทุนจากค่าแรงพนักงาน, ค่าใช้จ่ายของหน้าร้าน, ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขอเฟรนไชส์ในต่างประเทศ, ค่านำเข้าสินค้า หรือปัจจัยการผลิต ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ นี่เป็นเหตุผลให้ราคาบิ๊กแมค และลาเต้ของแต่ละประเทศมีสัดส่วนที่แตกต่างกับราคาของสองเมนูในอเมริกา
4.การเทรด Forex กับทฤษฎี PPP
นักลงทุนสามารถนำความต่างระหว่างอัตรา PPP และอัตราแลกเปลี่ยนมาประเมิน หรือคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว โดยใช้เรทของสกุลเงินมาคาดการณ์ทิศทางของคู่อัตราแลกเปลี่ยน และใช้มันในการช่วยตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายคู่สกุลเงินใดๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทฤษฎี PPP ก็ยังมีข้อจำกัดในตัวมันเอง นักลงทุนจึงควรระมัดระวังในการนำทฤษฎี PPP มาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยควรมีการวิเคราะห์เชิงเทคนิค มาช่วยเพื่อให้นักลงทุนได้มุมมองทิศทางราคามากขึ้น
ทฤษฎี PPP เชื่อว่า สกุลเงินต่างๆ จะเคลื่อนเข้าหาจุดที่สมดุลได้ ดังนั้น หากมีค่าแตกต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนกับอัตรา PPP นักลงทุนจะสามารถเข้าไปทำการซื้อ-ขาย เพื่อหวังผลที่จุดศูนย์กลาง หากอัตรา PPP ชี้แนะว่าสกุลเงินนั้นๆ มีค่าสูงกว่าที่ควร (overvalued) เมื่ิอเปรียบเทียบกับอีกสกุลเงิน นักลงทุนจึงควรพิจารณาขายเงินสกุลนั้นๆ ในขณะเดียวกันอัตรา PPP แสดงว่าเงินสกุลนั้นๆ มีค่าต่ำกว่าที่ควร เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เมื่อนั้นนักลงทุนควรรอดูตลาดในระยะยาว
ทฤษฎี PPP คาดการณ์ว่าการลดลงของอำนาจหรือกำลังในการซื้อของสกุลเงินนั้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ ที่มาช่วยลดอัตราแลกเปลี่ยนให้เท่ากัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถนำข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ซึ่งรายงานข้อมูล PPP ประจำปี มาช่วยในการวิเคราะห์มูลค่าของเงินแต่ละสกุลเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อหาแนวโน้มทั้งหมดของปีถัดไป
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรจดจำว่าการนำทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ PPP มาใช้อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเสมอไปสำหรับนักลงทุน หรือนักเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากทฤษฎีนี้ไม่ได้อธิบายความผันผวนระยะสั้น มันจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว กลยุทธ์แบบ PPP จึงควรนำไปใช้วิเคราะห์สกุลเงิน ร่วมกับกลยุทธ์ และตัวชี้วัดซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงเทคนิคอื่นๆ มากกว่าจะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ตัวเดียว
5.ข้อจำกัดของทฤษฎี PPP
แม้ว่าทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ จะมีประโยชน์อยู่ในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเครื่องมือช่วยเปรียบเทียบข้อมูลทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้มีความเกี่ยวเนื่องมากขึ้น เชน ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่าง GDP การนำอัตรา PPP มาใช้ จึงช่วยให้เราเห็นภาพมาตรฐานการครองชีพของแต่ละประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อดีอีกข้อของการนำทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ PPP มาใช้ คือ มันช่วยคาดการณ์แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในระยะยาวได้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด มีแนวโน้มที่จะปรับเข้าสู่จุดสมดุลตามทฤษฎี PPP
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีก็ยังเป็นทฤษฎีที่มีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้พูดถึง หรือละเลยต้นทุน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการพิจารณา เช่น ค่าขนส่ง อุปสรรคทางการค้า เช่น อัตราภาษีศุลกากร ความมั่นคงทางการเมือง และทหารของรัฐบาลแต่ละประเทศ ความแตกต่างของราคาปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถซื้อ-ขายได้ เช่น ค่าเช่า ข้อมูลเงื่อนไขเกี่ยวกับตลาดที่คลาดเคลื่อน หรือในกรณีที่นักลงทุนในตลาด Forex อื่นๆ แลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
Comments
D. jhon shikon milon
Is this article helpful to you?
LikeReply