“พันธบัตรรัฐบาล” คืออะไร? พันธบัตรให้ผลตอบแทนจากอะไร?

    “พันธบัตรรัฐบาล” คืออะไร?

    พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) คือ ตราสารหนี้ (Debt Security)  ที่ออกโดยรัฐบาลประเทศนั้นๆ หรือออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล เช่น กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำรายได้จากการขายพันธบัตรให้กับประชาชน บุคคลทั่วไป นักลงทุน หรือ สถาบันทางการเงินต่างๆ มาหมุนเวียนใช้เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

    ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ การออกพันธบัตรรัฐบาล ก็คือ การที่รัฐบาลกู้เงินจากประชาชน หรือสถาบันทางการเงินต่างๆ ผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล โดยมักจะมีการกำหนดหน่วยซื้อพันธบัตรขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 บาท โดยมีกำหนดระยะเวลาในการคืนเงิน ซึ่งจะไม่นานมากนัก มีทั้งแบบ 6 เดือน, 1 ปี หรืออยู่ระหว่าง 1- 7 ปี

    อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะได้รับ จะมีการจ่ายเป็นงวดๆ ตามแต่ที่รัฐบาล หรือหน่วยงานที่ออกพันธบัตรจะกำหนด ซึ่งส่วนมากจะมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม พันธบัตรรัฐบาลในบางประเทศ อาจจะไม่จ่ายเป็นดอกเบี้ย แต่จะมีการขายพันธบัตรรัฐบาลในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าพันธบัตร โดยถือเป็นกำไร ซึ่งเป็นส่วนต่างที่เจ้าของพันธบัตรจะได้รับ เมื่อนำพันธบัตรมาขึ้นเงินตามกำหนดกรอบเวลา

    นอกจากพันธบัตรแบบที่ออกโดยรัฐบาล (พันธบัตรรัฐบาล) แล้ว การออกพันธบัตรยังสามารถแบ่งออกได้อีกหลายประเภท ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และหน่วยงานที่ออกพันธบัตรนั้นๆ  ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรที่ออกโดยกระทรวงการคลัง จะเรียกว่าตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) พันธบัตรที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ จะเรียกว่าพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise Bonds) พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียกว่าพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟูื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund) เรียกว่าพันธบัตรกองทุนฟูื้นฟูฯ

    การลงทุนผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยรัฐบาลแห่งชาติ ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเป็นการออกพันธบัตรที่มีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ เป็นเหตุผลให้มีการเรียกพันธบัตรรัฐบาลในอีกชื่อหนึ่ง คือ หนี้สาธารณะ (Sovereign debt) โดยเนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้พันธบัตรของรัฐบาลมีอัตราดอกเบี้ยต่ำตามไปด้วย


    ประเภทของตราสารหนี้

    พันธบัตร หรือตราสารหนี้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น แบ่งตามหน่วยงานที่ออกตราสารหนี้ ว่าเป็นหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน แบ่งตามอายุของตราสารหนี้ ซึ่งมีทั้งพันธบัตรที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี และพันธบัตรที่มีอายุเกินหนึ่งปีขึ้น

    การแบ่งประเภทของพันธบัตร ยังสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น บางพันธบัตรอาจไม่มีดอกเบี้ย ในขณะที่บางพันธบัตรให้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ บางพันธบัตรให้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือยังสามารถแบ่งพันธบัตรออกได้ตามลักษณะของการออกพันธบัตร คือ แบบที่มีใบตราสาร ระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ และพันธบัตรแบบที่ไม่มีใบตราสาร คือ ไม่มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์

    เราลองมาดูกันว่า พันธบัตร หรือตราสารหนี้รัฐมีกี่ประเภท และแต่ละประเภท แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

    ตราสารหนี้รัฐบาล ประกอบไปด้วย


    2.1 พันธบัตรตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill)

    เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลังของประเทศนั้นๆ มักจะมีอายุพันธบัตรไม่เกินหนึ่งปี โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย พันธบัตรตั๋วเงินคงคลัง เป็นการขายพันธบัตรเพื่อให้รัฐบาลนำเงินที่ได้มาใช้หมุนเวียนในการบริหารประเทศ โดยผู้ซื้อที่ลงทุนกับพันธบัตรตั๋วเงินคงคลัง จะได้กำไร หรือผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาหน้าพันธบัตร กล่าวคือ ผู้ซื้อพันธบัตร จะซื้อพันธบัตรได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริง ทำให้ได้รับส่วนต่างเมื่อถึงเวลาไถ่ถอนเงินคืน การลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรตั๋วเงินคลัง นับเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ของเรานั่นเอง


    2.2 ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring Bill)

    ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีชื่อยาวๆ และฟังดูเข้าใจยากนี้ คือ การออกพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เพื่อหาเงินมาเข้ากองทุนของรัฐ โดยมีเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินจากคนที่ซื้อตั๋วสัญญาฯ นั่นเอง โดยตราสารหนี้ประเภทนี้ จะมีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยผู้ซื้อ จะได้กำไรจากตั๋วสัญญาใช้เงินฯ เพราะมันจะถูกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตั๋วจริง โดยเจ้าของตั๋วสามารถไถ่ถอนตั๋วสัญญาฯ ได้ในราคาจริง จึงทำให้ผู้ครอบครองตั๋วสัญญาฯ ได้รับประโยชน์จากค่าส่วนต่างดังกล่าว



    2.3 พันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds)


    พันธบัตรรัฐบาล คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยตัวรัฐบาลเอง โดยจะมีอายุประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น โดยจุดประสงค์ของการออกพันธบัตรรัฐบาล ก็เพื่อให้รัฐบาลได้กู้เงินมาทดแทนในยามที่รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือเพื่อนำเงินมาบริหารประเทศ และปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ปัจจุบัน รัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ประเภทนี้ออกมาในหลายชื่อแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้

    การจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลจะมีการจ่ายเป็นงวด ๆ ตลอดอายุพันธบัตร โดยปกติ จะมีการจ่ายปีละ 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนดชำระเงินต้นตามมูลค่าที่ตราไว้พร้อมกับดอกเบี้ยงวดสุดท้าย

    2.4 พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Savings Bonds)


    พันธบัตรออมทรัพย์ คือ ตราสารหนี้ ที่รัฐบาลขายให้กับบุคคลทั่วไป หรือนิติบุคคล/องค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน หรือการออมทรัพย์ โดยจะมีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นระยะ ให้กับผู้ครอบครองพันธบัตรออมทรัพย์ ตามปกติจะแบ่งเป็น 2 ครั้งต่อไป ตลอดอายุของพันธบัตร เมื่อครบกำหนดการไถ่ถอนพันธบัตร ผู้ครอบครองพันธบัตรก็จะได้รับเงินดอกเบี้ยงวดสุดท้าย พร้อมกับเงินตามราคาหน้าพันธบัตร


    พันธบัตรให้ผลตอบแทนจากอะไร

    อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านน่าจะพอเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่าพันธบัตร หรือตราสารหนี้ คืออะไร และทำงานอย่างไร เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วผู้ซื้อพันธบัตรจะได้ประโยชน์อะไรจากการซื้อพันธบัตรเหล่านี้บ้าง และการลงทุนในพันธบัตรจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน

    การซื้อพันธบัตรนั้น มีประโยชน์อยู่หลายอย่างที่ผู้ซื้อ หรือนักลงทุนจะได้รับ อย่างแรกเลยก็คือ เป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่นๆ เนื่องจากลูกหนี้ของเรา คือ รัฐบาล ทำให้โอกาสที่เราจะถูกรัฐบาลเบี้ยวหนี้ นั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลสามารถเก็บภาษีเพื่อมาชำระหนี้ได้

    ส่วนผลตอบแทนที่เราจะได้จากการซื้อพันธบัตรนั้น อย่างแรก คือ การได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย (Interest) ของพันธบัตร ซึ่งจะมีการแบ่งจ่ายตามเวลาที่ชัดเจน โดยปกติ จะมีการจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการลงทุนบางประเภท ที่กำไรอาจจะขึ้นอยู่กับราคาตลาด และปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตร อาจจะไม่สูงเท่ากับการลงทุนแบบอื่นๆ เนื่องจากมันเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆนั่นเอง

    สอง ผู้ครอบครองพันธบัตร สามารถใช้พันธบัตรในการเป็นหลักประกัน (Collateral) ในเรื่องต่างๆ กับหน่วยงานราชการ หรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขอทุเลาการเสียภาษีอากร การใช้สวัสดิการเงินกู้ การขอกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชี การชำระค่าไฟ การประกวดราคา การประกันตัวผู้ต้องหา การออกหนังสือค้ำประกัน เป็นต้น

    สาม ผลตอบแทนของเราอาจมาจากส่วนลด (Discount) ที่เป็นส่วนต่างของราคาหน้าพันธบัตร กับราคาที่เราซื้อมา บางพันธบัตร จะขายให้กับผู้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริง หรือราคาหน้าพันธบัตร ทำให้เมื่อถึงกำหนดการไถ่ถอนเงิน ผู้ครอบครองพันธบัตร จะได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้ โดยจะได้รับเงินคืนตามราคาหน้าพันธบัตรจริง

    สี่ ในกรณีที่ผู้ครอบครองพันธบัตร ต้องการขายพันธบัตรระหว่างนักลงทุนด้วยกันเอง ผลตอบแทนก็จะมาจากกำไรที่ได้จากการขาย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้ครอบครองพันธบัตรขายพันธบัตรต่อในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาเท่าไร


    พันธบัตรมีความเสี่ยงทางการลงทุนอย่างไรบ้าง


    4.1 ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย

    ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจส่งผลต่อราคาพันธบัตร โดยราคาตลาดของพันธบัตรจะแปรผันกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยหากเจ้าของพันธบัตรตัดสินใจขายพันธบัตรก่อนถึงครบกำหนดการไถ่ถอนในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าอัตราพันธบัตร เจ้าของพันธบัตรอาจต้องขายพันธบัตรของตัวเองในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าพันธบัตร


    4.2 ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้

    ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากหน่วยงาน หรือผู้ที่ออกพันธบัตร ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากรัฐบาล มีอำนาจในการเก็บภาษีมาใช้หนี้ได้

    4.3 ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

    ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือ ความเสี่ยงจากการที่พันธบัตรไม่สามารถถูกซื้อ-ขาย ได้เพียงพอในเวลา และราคาที่เหมาะสมในตลาดได้ ทำให้อาจต้องมีการลด หรือเพิ่มราคาพันธบัตร เพื่อให้สามารถขายพันธบัตรได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้จะหมดไปหากเจ้าของพันธบัตรครอบครองพันธบัตรจนครบกำหนดเวลาไถ่ถอน

    4.4 ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

    ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ คือ ผลจากกำลังการซื้อที่ลดลง ซึ่งโดยทั่วไป การลงทุนกับพันธบัตร จะเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนที่ให้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ นั่นหมายความว่า หากเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น จะทำให้ดอกเบี้ยที่ผู้ครอบครองพันธบัตรไม่สูงไปตามภาวะเงินเฟ้อนั่นเอง

    Comments

    • December 7, 8.00
      D. jhon shikon milon

      Is this article helpful to you?

      LikeReply