ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์? รีไฟแนนซ์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

    1.“รีไฟแนนซ์” (Refinance) คืออะไร ?

    เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “รีไฟแนนซ์” (Refinance) กันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคนที่ต้องกู้เงินมาซื้อบ้าน หรือคอนโดฯ บทความนี้ จะพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับการรีไฟแนนซ์อย่างละเอียด โดยไม่เพียงทำความเข้าใจถึงความหมายของการรีไฟแนนซ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสำรวจข้อดี-ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์ว่ามีอะไรบ้าง ไปจนถึงขั้นตอนการดำเนินการขอรีไฟแนนซ์แบบ step by step ไปจนถึงวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ ว่าการรีไฟแนนซ์จะคุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อคนกู้หรือไม่

    “รีไฟแนนซ์” (Refinance) หรือการรีไฟแนนซ์ ก็คือ การกู้สินเชื่อบ้านใหม่ กับธนาคารใหม่ เพื่อมาใช้หนี้สินเชื่อบ้านเก่า กับธนาคารเจ้าเก่า โดยจะต้องเป็นการกู้สินเชื่อบ้านที่ผู้กู้ได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ ลดอัตราดอกเบี้ยลง ลดอัตราการจ่ายรายเดือน  หรือเพื่อหาประโยชน์จากวงเงินกู้บ้าน (สินเชื่อบ้าน) ขณะที่หลายคน ก็รีไฟแนนซ์เพื่อจะได้ชำระเงินกู้ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเงินต้น (วงเงินกู้) ลดลง หรือเนื่องจากปรับเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Interest Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Interest Rate)


    การรีไฟแนนซ์ทำงานอย่างไร?

    หลักการง่ายๆ ของการรีไฟแนนซ์ก็คือ เมื่อเราตัดสินใจจะซื้อบ้าน เราจะได้รับวงเงินกู้จากธนาคารจำนวนหนึ่ง จากนั้นเงินนี้จะถูกจ่ายให้กับเจ้าของบ้านที่เราซื้อ (บริษัทเจ้าของโครงการอสังหาฯ)

    เมื่อเรารีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน เราจะได้วงเงินกู้ใหม่ โดยแทนที่เงินก้อนนี้จะถูกจ่ายให้กับเจ้าของบ้านที่เราซื้อ วงเงินกู้ก้อนนี้ จะถูกนำไปใช้หนี้เก่าที่เรากู้มาจากธนาคารก่อนหน้า เพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมด การที่เราจะรีไฟแนนซ์ได้นั้น เราจะต้องผ่านคุณสมบัติต่างๆ ตามที่ธนาคารแห่งใหม่กำหนด เหมือนกับที่เราต้องผ่านเกณฑ์ของธนาคารเก่า หลังจากนั้น เราต้องยื่นคำขอกู้ใหม่กับธนาคารแห่งใหม่ และผ่านกระบวนการรับประกันภัย  และขั้นตอนต่างๆ เหมือนที่เราทำตอนกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารแรก


    2. เจาะลึกข้อดี-ข้อเสียของการ “รีไฟแนนซ์”

    อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนพอจะเห็นภาพแล้วว่าการรีไฟแนนซ์ คือ อะไร และมีกระบวนการคร่าวๆ เช่นไร คราวนี้ เราลองมาดูกันว่าแล้วการรีไฟแนนซ์ที่กล่าวไปข้างต้น มีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไรบ้างต่อคนกู้

    2.1 ข้อดีของการรีไฟแนนซ์

    2.1.1 ลดอัตราการผ่อนชำระรายเดือน หากวัตถุประสงค์ในการรีไฟแนนซ์ของคุณ คือ การผ่อนชำระเงินให้น้อยลงในแต่ละเดือน การรีไฟแนนซ์เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ย่อมเป็นทางเลือกหนึ่งของคุณ อีกหนทางหนึ่งที่จะลดอัตราการผ่อนชำระรายเดือนก็คือ ขยายระยะเวลาของการชำระเงินกู้ ยกตัวอย่างเช่น จากของเดิม 15 ปี ขยายไปเป็น 30 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการขยายระยะเวลาเช่นนี้ คือ คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นในระยะยาว

    2.1.2 ได้ประโยชน์จากวงเงินกู้ต้น โดยเมื่อเรารีไฟแนนซ์เพื่อกู้เงินใหม่ โดยมีวงเงินมากกว่าวงเงินกู้เดิม ผู้ปล่อยกู้จะให้เช็คเงินสดที่เป็นเงินส่วนต่าง (Cash-out Refinance) ผู้กู้เงิน จึงได้ประโยชน์จากทั้งเงินส่วนต่างก้อนนี้ และยังได้อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ต่ำลงอีกด้วย

    2.1.3 ชำระเงินกู้ได้เร็วขึ้น เมื่อคุณรีไฟแนนซ์จากวงเงินกู้ระยะเวลา 30 ปี มาเป็น 15 ปี คุณจะสามารถชำระหนี้ได้เร็วกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง โดยคุณจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่การกู้แบบระยะเวลา 15 ปีก็มีทั้งข้อดี และเสีย ซึ่งหนึ่งในข้อเสีย ก็คือ อัตราการผ่อนชำระรายเดือนของคุณจะสูงขึ้น



    2.2 ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์


    2.2.1 ต้องเดินเรื่องกู้ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ข้อเสียอย่างหนึ่งของการรีไฟแนนซ์ ผู้กู้จะต้องเตรียมเอกสาร และดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อยื่นขอกู้เงินใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ซึ่งสำหรับบางคนแล้วเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก และเสียเวลาไม่น้อยเลยทีเดียว

    2.2.2 การเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการรีไฟแนนซ์ อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายท่านต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจว่าจะรีไฟแนนซ์ดีหรือไม่ คือ การดูว่ามีค่าธรรมเนียมใดบ้างที่คุณจะต้องเสียในการรีไฟแนนซ์ โดยตามปกติแล้ว จะมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังต่อไปนี้  ไม่ว่าจะเป็น ค่าปรับการยกเลิกวงเงินกู้เดิม ค่าธรรมเนียมวงเงินกู้ใหม่ ซึ่งบางธนาคารอาจไม่มีค่าธรรมเนียมในส่วนนี้

    เช่นเดียวกันกับค่าประเมินหลักทรัพย์ ที่ผู้กู้อาจจะต้องเสียบ้างเล็กน้อย หรืออาจจะไม่มีเลย นอกจากนี้ ยังมีค่าประกันอัคคีภัย ตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยแต่ละธนาคารจะมีเบี้ยประกันไม่เท่ากัน รวมไปถึงค่าธรรมเนียมการจำนอง และค่าอากรแสตมป์ที่ผู้กู้จะต้องเสียอีกด้วย


    3.ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน

    3.1  ตั้งเป้าหมายการรีไฟแนนซ์ของเราว่า เราต้องการรีไฟแนนซ์ไปเพื่ออะไร เพื่อจะลดอัตราการผ่อนชำระรายเดือน หรือเพื่อจะลดระยะเวลาของวงเงินกู้

    3.2  มองหาตัวเลือกรีไฟแนนซ์ที่คุณจะได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะการเปรียบเทียบราคาดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร

    3.3  ยื่นขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารตั้งแต่ 3-5 ธนาคารขึ้นไป โดยพยายามส่งคำขอยื่นกู้ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบในเรื่องเครดิต

    3.4  เลือกธนาคารที่เราจะรีไฟแนนซ์ด้วย โดยพิจารณาเลือกธนาคารที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด จากการเปรียบเทียบเอกสารข้อมูลที่คุณได้จากธนาคารแต่ละแห่ง โดยธนาคารจะคำนวณอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้คุณคร่าวๆ ซึ่งผู้กู้ จะต้องนำข้อมูลรีไฟแนนซ์ของแต่ละธนาคารที่เสนอมา ไปคำนวณเปรียบเทียบกับวงเงินกู้สินเชื่อบ้านเก่าที่เราทำไว้ก่อนด้วยว่า มันคุ้มค่ากับการรีไฟแนนซ์หรือไม่ เราจะประหยัดเงินไปได้มากน้อยแค่ไหนในการรีไฟแนนซ์

    3.5  เมื่อเราได้ธนาคารที่เราจะรีไฟแนนซ์ด้วยแล้วนั้น สิ่งที่จะต้องทำ คือ การติดต่อธนาคารเดิมที่เราได้กู้ไว้ เพื่อขอเอกสารแสดงยอดหนี้เก่าทั้งหมด เพื่อนำไปยื่นขอกู้เงินกับธนาคารใหม่ตั้งแต่ต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดเหมือนการยื่นกู้รอบแรก

    3.6  รอธนาคารนั้นๆ อนุมัติการขอรีไฟแนนซ์ของเรา

    3.7  เมื่อได้รับการยืนยันการอนุมัติการรีไฟแนนซ์ ให้เราติดต่อกับธนาคารเก่าที่ให้กู้ เพื่อนัดหมายวันทำนิติกรรมในการไถ่ถอน พร้อมกับการนัดหมายตัวแทนจากธนาคารใหม่ เพื่อทำสัญญา ณ สำนักงานที่ดิน โดยจะต้องนัดหมายทั้งธนาคารเก่า และธนาคารใหม่มาจัดการเรื่องเอกสารในวันเดียวกัน

    3.8  ขั้นตอนสุดท้าย คือ การดำเนินการโอนทรัพย์สิน ที่สำนักงานที่ดิน โดยหากวงเงินกู้ของธนาคารที่เรารีไฟแนนซ์ด้วย มียอดเงินสูงกว่าราคาต้นที่คงเหลือ ธนาคารใหม่ที่เรารีไฟแนนซ์ด้วยจะออกเช็คเงินสดให้เรา ซึ่งเป็นส่วนต่างจากยอดวงเงินกู้ใหม่กับราคาต้นจากธนาคารเก่า และจะจ่ายเช็คเงินสดให้กับธนาคารเก่าที่เราเป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้เก่าทั้งหมดแทนเรา


    4. การใช้เครื่องคำนวณสินเชื่อบ้าน

    จากข้อมูลด้านบน ผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วว่าการจะตัดสินใจรีไฟแนนซ์หรือไม่ และควรจะเลือกรีไฟแนนซ์กับธนาคารเจ้าใดนั้น จำเป็นต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาคำนวณประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวงเงินกู้ ระยะเวลาของวงเงิน อัตราการชำระรายเดือน หรืออัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โชคดีที่ในปัจจุบัน ธนาคาร, บริษัทเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ต่างก็มีเครื่องคำนวณสินเชื่อบ้านให้เราได้เข้าไปกรอกข้อมูลสำหรับการคำนวณได้อย่างสะดวกรวดเร็วบนหน้าเว็บไซต์เหล่านั้น

    ผู้ที่สนใจคำนวณสินเชื่อบ้าน อาจจะเข้าไปใช้เครื่องคำนวณของธนาคารที่เราสนใจยื่นกู้ได้โดยตรงไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องคำนวณในเว็บไซต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารไทยพาณิชย์หรือธนาคารออมสิน หรือคุณสามารถคำนวณสินเชื่อได้ผ่านระบบของเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ เช่น เว็บไซต์ Home.co.th, เว็บไซต์ DDproperty หรือ เว็บไซต์ Baania.com เป็นต้น


    สำหรับข้อมูลที่เราต้องกรอกในระบบคำนวณสินเชื่อบ้าน ก็จะมีข้อมูลจำพวก

    • วงเงินกู้สูงสุด (บาท)

    • ระยะเวลากู้ (ปี)

    • อัตราดอกเบี้ย (เปอร์เซ็นต์)

    • อัตราการผ่อน (บาท/เดือน)


    5. การเลือกสินเชื่อบ้านที่คุ้มค่าที่สุด

    การเลือกสินเชื่อบ้านที่คุ้มค่าต่อเรามากที่สุด อาจจะต้องอาศัยการทำการบ้าน ผ่านการติดต่อกับธนาคารต่างๆ ทั้งทางเว็บไซต์ หรือโทรศัพท์ เพื่อขอข้อมูลสินเชื่อบ้านจากธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งธนาคารที่มีศักยภาพในการปล่อยกู้ จะสามารถส่งรายละเอียดของสินเชื่อกลับมายังเราได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะมีความยาวไม่เกิน 3 หน้า ภายในนั้น จะระบุข้อมูลของสินเชื่อ อัตราการผ่อนชำระ ค่าใช้จ่ายในการยื่นกู้สินเชื่อ  ไปจนถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ หน้าที่ของเราหลังจากนี้ ก็คือ การเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ของแต่ละธนาคาร และดูว่าสินเชื่อของธนาคารใด คือ ทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณ โดยคุณอาจจะใช้ระบบเครื่องคำนวณสินเชื่อที่เราได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ มาใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบการตัดสินใจอีกทางด้วย



    Comments

    • December 7, 8.00
      D. jhon shikon milon

      Is this article helpful to you?

      LikeReply