ดอกเบี้ยจากการกดเงินสดด้วยบัตรเครดิต
การกดเงินสดด้วยบัตรเครดิต เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้กดใช้เงินสดบ่อย ๆ แต่จะเป็นกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนที่สามารถชำระเงินคืนได้ในเวลาอันสั้น เพราะจะมีการเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เราได้รับเงินจากตู้ ATM ทันที ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้บัตรเครดิตรูดชำระสินค้าที่จะมีระยะปลอดดอกเบี้ยอยู่ที่ 45-55 วันนับจากวันที่สรุปยอดการใช้จ่าย
เรื่องของดอกเบี้ยบัตรเครดิต เป็นเรื่องที่ใคร ๆ หลายคนอาจจะมึนงง และตั้งคำถามอยู่ว่าเขาคิดดอกเบี้ยยังไงกันบ้าง แน่นอนว่าใครที่มีบัตรเครดิตแล้วก็ควรที่จะระมัดระวังในการใช้บัตรให้ดี เพราะแม้บัตรเครดิตจะสามารถสร้างความสะดวกสบายกับเราอย่างมากก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นบัตรที่สามารถสร้างหนี้สินกองโตให้กับเราได้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งหากใครเผลอใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมาบ่อย ๆ แล้วละก็ ก็ยิ่งต้องระวังเรื่องของการคำนวณดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดออกมาใช้ให้ดี เพื่อเราจะสามารถบริหารเงินที่เราต้องจ่ายคืนได้อย่างถูกต้องและไม่ต้องมาตกใจกับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดไว้ และด้วยความไม่รู้นี่เองจึงทำให้หลาย ๆ คนต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตกันมากมาย วันนี้เราจึงจะมาทำความเข้าใจเรื่องของการจ่ายคืนบัตรเครดิตพร้อมดอกเบี้ยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เงื่อนไขของการใช้บัตรเครดิตกดเงินสด มีอะไรบ้าง
บัตรเครดิตของแต่ละธนาคารก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นการสามารถเบิกถอนเงินออกมาใช้ได้ขั้นต่ำ 500 บาท/ครั้ง หรือถอนได้จำนวนสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อวัน หรือขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของตู้ ATM ของแต่ละธนาคาร เป็นต้น นอกจากนี้เราต้องคำนึงถึงค่าธรรมเนียมในการกดเงินด้วยบัตรเครดิตจากตู้เอทีเอ็ม โดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดอยู่ที่ 3% จากยอดเงินที่กดออกมา รวม VAT อีก 7% และยังมียอดดอกเบี้ยรายวันที่นับจากวันที่กดเงินออกมาใช้ด้วย
วิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยเมื่อกดเงินสดด้วยบัตรเครดิต
ดอกเบี้ยเมื่อใช้บัตรเครดิตกดเงินสดจะเกิดขึ้นในวันที่กดถอนเงินสดออกมาใช้ทันที สิ่งที่นำมาคำนวณดอกเบี้ย จะมีดังนี้
- จำนวนเงินที่กด
- ค่าธรรมเนียมการกดเงินจากตู้ ATM = 3%
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT = 7%
- อัตราดอกเบี้ยรายปี = 20%
- จำนวนวัน ที่เรากดเงินออกมาใช้ จนถึงกำหนดวันที่ต้องชำระ = 25 วัน
- (จำนวนเงินที่กด x ค่าธรรมเนียมบัตร 3%) + VAT 7% + (จำนวนเงินที่กด x อัตราดอกเบี้ยรายปี 20% x จำนวนวันนับจากวันที่กด) /365 วัน = จำนวนเงินรวมดอกเบี้ยที่เราต้องชำระคืน
สมมุติว่าเรากดเงินสดผ่านบัตรเครดิตจำนวน 5,000 บาท ในรอบบิลถัดไปเราจะต้องจ่ายคืน
- (5,000 x 3%)+ 7% = 160.50 บาท + (5,000 x 20% x 25วัน) / 365 = 68.50 บาท
ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยรวม เท่ากับ 160.50 + 68.50 = 229
- เงินต้นรวมดอกเบี้ยรวมที่ต้องชำระคืน จะเท่ากับ 5,000 + 229 = 5,229 บาท
การคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยรายวันนั้นจะมีอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ตามจำนวนเงินสดที่เรากดออกมาเพิ่มขึ้น กกล่าวคือ ยิ่งกดเงินออกมาเยอะเท่าไหร่ ดอกเบี้ยรายวันก็แพงมากขึ้นเท่านั้น
การชำระเงินคืนหลังจากกดเงินสดจากบัตรเครดิต
วัตุประสงค์ของการใช้บัตรเครดิตนั่นคือการใช้รูดชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ โดยธนาคารจะเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการใช้บัตรเครดิตไม่เกิน 20% ต่อปี และมีระยะการปลอดภาษีด้วย ส่วนการใช้บัตรเครดิตกดเงินสดนั่น เราจำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็มอีก 3% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% เพิ่มอีก เมื่อถึงกำหนดการจ่ายเงินคืนสำหรับการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยต่าง ๆ เพิ่มด้วย และเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยบานปลาย เราก็ควรที่จะจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนและให้ตรงตามกำหนดชำระถึงจะดีที่สุด
แต่ใครที่ไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ก็ต้องเลือกชำระแบบจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งบัตรเครดิตจะกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำที่ 10% ของยอดคงค้าง แล้วหากเราเลือกจ่ายแต่ยอดขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องเสียดอกเบี้ยของดอกเบี้ยวนเวียนไปเรื่อย คือจะเป็นหนี้สินไปเรื่อย ๆ นั่นเอง คิดว่าไม่มีใครอยากที่จะเป็นหนี้นาน ๆ อย่างแน่นอน
สำหรับใครที่บังเอิญใช้บัตรเครดิตกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มออกมาแทนที่จะใช้บัตรเดบิต แต่ไหวตัวทัน แล้วอยากปิดยอดทั้งหมดแบบไม่ต้องรอให้ครบรอบถัดไป เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยรายวันที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถโทรไปที่ call center เพื่อให้หักยอดเงินที่เราใช้บัตรเครดิตออกจากบัญชีออมทรัพย์ของเราได้ทันที
การใช้บัตรเครดิตจำเป็นที่จะต้องวางแผนการชำระเงินคืนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดดอกเบี้ยเพิ่มพูนจนกลายเป็นหนี้สินไม่รู้จักจบสิ้น ก่อนการกดเงินมาใช้เราต้องรู้จักตั้งสติให้ดีว่า เราจะสามารถจ่ายเงินคืนได้หรือไม่ อีกทั้งยังไม่ควรเอาเงินในอนาคตมาใช้โดยไม่จำเป็น เราต้องมั่นใจว่าเราสามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนดโดยไม่มีปัญหา เพื่อไม่ให้ติดค้างจนเป็นกังวลในเวลาใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในครั้งต่อไป
หากต้องการใช้เงินสดด่วน ควรกดเงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด
สำหรับใครที่ต้องการเบิกถอนเงินสดมาใช้ล่วงหน้าก่อน เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินจริง ๆ การกดเงินสดด้วยบัตรกดเงินสดจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการใช้บัตรเครดิต นั่นก็เพราะความแตกต่างในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หากใช้บัตรกดเงินสดกดเงินจากตู้เอทีเอ็มออกมา เราไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมในการกด 3% และไม่มีค่า VAT 7% เพิ่มเติมอีก ซึ่งหากกดเงินผ่านบัตรเครดิตจำเป็นที่จะต้องบวกดอกเบี้ยในส่วนนี้เพิ่ม
บัตรเครดิต
จะมีประโยชน์ที่สุด เมื่อเราใช้ในการรูดเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการอื่นๆ แทนการใช้เงินสด เพื่อลดความยุ่งยากในการพกเงินสด โดยมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 20% ต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถผ่อนชำระสินค้าได้ในอัตราดอกเบี้ยรวมที่ไม่แพงมากเท่ากับการกดเงินสดออกมาใช้ อีกทั้งยังมีระยะเวลาการปลอดดอกเบี้ย หากเราชำระเงินคืนในช่วงเวลา 45-55 วัน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละธนาคาร บัตรเครดิตจะมีอัตราชำระเงินคืนขั้นต่ำอยู่ที่ 10% ของยอกเงินคงค้าง
บัตรกดเงินสด
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เงินสดฉุกเฉิน โดยสามารถไปกดจากตู้เอทีเอ็มออกมาใช้ได้ทันที โดยไม่มีค่าธรรมเนียมหรือภาษีมูลค่าเพิ่มในการกดแม้แต่อย่างใด โดยมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28% ต่อปี แต่บัตรกดเงินสดนั้นไม่สามารถที่จะนำไปรูดเพื่อชำระค่าบริการหรือสินค้าต่าง ๆ ได้ บัตรกดเงินสดจะมีอัตราชำระเงินคืนขั้นต่ำอยู่ที่ 3% ของยอดเงินค้าง
ไม่ว่าจะกดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวันที่เริ่มนับจากวันที่เรากดเงินออกมาเหมือนกัน โดยไม่มีระยะปลอดดอกเบี้ยแม้แต่อย่างใด ดังนั้นเราต้องคำนวณให้ดีว่าเราจะสามารถจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เมื่อไหร่ การกดเงินสดจากทั้งบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดนั้น ไม่ควรเกิดขึ้นบ่อยนัก และควรรีบชำระเงินคืนทั้งหมดให้เร็วที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเรื่องด่วนจำเป็นมาก ๆ อะไรอีกที่เราต้องรีบใช้เงิน เราควรวางแผนการใช้เงินผ่านบัตรเครดิตให้ดีเพื่อให้เกิดสภาพคล่องด้านการเงินที่ดีในอนาคต และไม่สร้างหนี้สินให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น
สรุป
ดอกเบี้ยจากการใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมาใช้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี วันนี้เราก็ได้รู้แล้วว่าการกดเงินสดด้วยบัตรเครดิตนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราโล่งอกได้เท่าไหร่นัก เพราะเราจำเป็นที่จะต้องคำนวณดอกเบี้ยที่เพิ่มและแพงขึ้นตามจำนวนเงินที่เรากดออกมา อีกทั้งยังต้องตรวจสอบให้ดีว่า ตัวเองสามารถชำระเงินคืนได้เมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
Comments
D. jhon shikon milon
Is this article helpful to you?
LikeReply